top of page

แนวทางการให้ LAAB ในประเทศไทย


ตามที่กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรค ได้จัดทำและเผยแพร่เอกสาร แนวทางการให้ Long Acting Antibody (LAAB) ในประเทศไทย ซึ่งได้จากมติที่ประชุมพิจารณาแนวทางการใช้ Long Acting Antibody (LAAB) สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศไทย ระหว่างผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข (โดยกรมการแพทย์มี นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์และ พญ.ปิยะธิดา หาญสมบูรณ์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ เป็นบรรณาธิการ) สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UhosNet) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 นั้น

ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 480 ได้มีมติเห็นชอบการใช้ LAAB สำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบและโรคภูมิแพ้ตนเองที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันและไม่สามารถได้รับวัคซีนได้ตามปกติ หรือไม่ตอบสนองต่อวัคซีนโควิด 19 และให้เน้นย้ำการใช้ LAAB ในกลุ่มภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแต่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงเพียงพอต่อการป้องกันโรค

ซึ่งกรณีกลุ่มผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับ LAAB เช่น กลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง สามารถพิจารณาให้ LAAB ตามความเสี่ยงของผู้ป่วยและดุลยพินิจของอายุรแพทย์/กุมารแพทย์/แพทย์เจ้าของไข้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ ความเสมอภาคและความเป็นไปได้ เป็นสำคัญ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ LAAB ในกลุ่มผู้ที่มีความจำเป็นในการลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้จัดทำ แนวทางการให้ LAAB ในประเทศไทย ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (29 กรกฎาคม 2565) เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานต่อไป

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งประเทศไทย ได้เพิ่มข้อบ่งใช้ของยา Evusheld ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป เป็นการใช้ฉีดเพื่อรักษาโควิด 19 สำหรับผู้ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยรุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่มีน้ำหนักตัวอย่างน้อย 40 กิโลกรัม โดยใช้ขนาด 600 มิลลิกรัม Evusheld สามารถลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงจนถึงเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 ร้อยละ 50-60 โดยผู้ป่วยควรได้รับ Evusheld อย่างเร็วที่สุดเมื่อทราบว่าเป็นโควิด 19 และควรได้รับยาภายใน 7 วัน หลังจากเริ่มมีอาการ ที่ประชุมคณะทำงานวิชาการและบริหารจัดการ LAAB ในประเทศไทย ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2565 จึงได้ให้คำแนะนำการใช้ LAAB ในประเทศไทย สำหรับฉีดป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อและสำหรับฉีดเพื่อรักษา และจัดทำแนวทางการให้ LAAB ในประเทศไทย ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 (พฤศจิกายน 2565) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนต่อไป


Comments


สำนักที่ปรึกษา กรมการแพทย์

อาคารกรมการแพทย์ 1 ชั้น 4

กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ประเทศไทย

©2022 โดย สำนักที่ปรึกษา กรมการแพทย์ ภูมิใจสร้างสรรค์โดย Wix.com

bottom of page